นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน. โดยสำนักงาน กศน.กทม. ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมี นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. และนางสุพรพรรณ นาคปานเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.กทม. พร้อมด้วยผู้บริหาร กศน.เขต และนักศึกษา กศน. ร่วมการประชุมชี้แจงฯ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ หอประชุมกองทัพอากาศ กรุงเทพมหานคร
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า สำนักงาน กศน. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัย โดยมีพันธกิจในการจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมทุกช่วงวัย และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต บริบทของการจัดการศึกษาในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงจำเป็นที่ต้องจัดการศึกษาและออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย โดยเฉพาะ กศน. เป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาให้แก่บุคคลทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิดจนสียชีวิต รวมถึงการออกแบบการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ ความเป็นอยู่ นอกจากนี้นักศึกษา กศน.ยังมีความหลากหลาย การจัดการเรียนการสอนจึงไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบเดิม ๆ อาจจะเป็นการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ การศึกษาเพื่อนำไปต่อยอดทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และยังต้องคำนึงถึงจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายของการจัดการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล คือ ทำให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาทุกระดับ จัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย สามารถเติมเต็มทั้งองค์ความรู้และทักษะชีวิต ตลอดจนการพัฒนาอาชีพและการยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า สำนักงาน กศน. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อยกระดับการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งขับเคลื่อนภารกิจหลักตามแผนการพัฒนาประเทศ และนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้สำนักงาน กศน. ยังจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย ได้แก่ การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สำหรับกลุ่มเป้าหมายนอกระบบ การเทียบระดับการศึกษา การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัยด้วยวิธีการที่ยืดหยุ่น หลากหลายตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย อาทิ การศึกษาทางไกล การศึกษาด้วยตนเอง หรือการศึกษาแบบชั้นเรียน ใช้วิธีการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเพื่อรับคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเพื่อจัดระดับผลการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล